การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินคนอื่นโดยไม่มีเจตนาผลจะเป็นอย่างไร

Last updated: 29 ธ.ค. 2563  |  11127 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินคนอื่นโดยไม่มีเจตนาผลจะเป็นอย่างไร

#การสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินคนอื่นโดยไม่มีเจตนาผลจะเป็นอย่างไร​แต่ถ้ามีเจตนาผลทางแพ่งจะเป็นอย่างไร

บ่อยครั้งที่เพื่อนบ้านกันมีการปลูกสร้างโรงเรือนหรืออาคารรุกล้ำที่ดินข้างๆ โดยที่เรามิได้มีเจตนา หากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นจะมีผลอย่างไร และจะต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้าง

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา ๑๓๑๒ บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้นแต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้นและจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอมต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

 

ดังนั้น ถ้าบุคคลผู้ใดสร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นไปตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

 

ข้อสังเกตสำคัญ

๑.คำว่า "กระทำการโดยไม่สุจริต" ตามวรรคสอง ต้องพิจารณาในขณะที่สร้างโรงเรือนจนถึงเวลาที่สร้างแล้วเสร็จ และ คำว่า "สุจริต" หมายความว่า ไม่รู้ว่าสร้างโรงเรือนรุกล้ำที่ดินของผู้อื่น

๒.สร้างโรงเรือนโดยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยไม่ได้ตรวจสอบแนวเขตของที่ดินที่ติดกับผู้อื่นและปลอมหนังสือยินยอมให้ก่อสร้าง เป็นการปลูกสร้างโรงเรือนโดยไม่สุจริต (ฎ.๒๑๔๑/๑๕๒๔)

๓.เจ้าของที่ดินที่ถูกโรงเรือนรุกล้ำซื้อที่ดินมาจากการขายทอดตลาดต่อมามีมีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินกันแล้วจึงทราบว่าโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ของผู้อื่น เจ้าของที่ดินที่ถูกรุกล้ำไม่มีอำนาจฟ้องให้รื้อถอน แต่มีสิทธิเรียกเงินค่าใช้ส่วนแดนกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม(ฎ.๑๕๑๑/๒๕๔๒)

๔.โรงเรือน ตามมาตรา๑๓๑๒ หมายถึงบ้านที่อยู่อาศัย หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดของโรงเรือน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒ เช่น กันสาดคอนกรีตของบ้าน(ฎ.๙๕๑๗/๒๕๓๙) ครัว(ฎ.๖๓๔/๒๕๑๕) ส่วนที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒ เช่น โรงรถ ท่อน้ำประปา แท้งก์น้ำ รั้วบ้าน ถังส้วมซีเมนต์ แม้สร้างโดยสุจริตก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒ จะต้องรื้อถอนออกไปและทำที่ดินตามเดิมและผู้สร้างต้องออกค่าใช้จ่ายเอง

๕.บุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒ ต้องเป็นเจ้าของโรงเรือนที่ปลูกรุกล้ำ การปลูกโรงเรือนที่รุกล้ำจะต้องรุกล้ำเข้าไปในที่ของผู้อื่นเป็นส่วนน้อยของโรงเรือน โดยส่วนใหญ่ของโรงเรือนจะต้องอยู่ในที่ของเจ้าของโรงเรือน จึงจะได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒ เช่น โรงเรือนรุกล้ำเข้าไปกึ่งหนึ่งจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๑๓๑๒

๖.การสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นต้องเข้าใจว่าเป็นที่ดินของตนเองหรือเป็นที่ดินของผู้อื่นซึ่งตนมีสิทธิสร้างโรงเรือนที่รุกล้ำนั้น ถือว่าเป็นการสร้างโดยสุจริต แต่ถ้ารู้ว่าไม่ใช่ที่ดินของตนเองหรือที่ดินของบุคคลที่ตนไม่มีสิทธิสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินนั้น เป็นการสร้างโดยไม่สุจริต(ฎ.๒๔๓๕/๒๕๒๓)

๗.หากเป็นการสร้างโดยไม่สุจริตจะต้องทำการรื้อถอนและทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้