4 ทักษะสำคัญที่ทนายความยุคใหม่ต้องมี

Last updated: 5 ม.ค. 2567  |  2208 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทักษะการเป็นทนายความ

4 ทักษะสำคัญที่ทนายยุคใหม่ต้องมี

การเป็นทนายความที่เก่งและเป็นที่ยอมรับนั้นไม่ใช่เพียงแค่สอบได้ใบอนุญาตให้เป็นทนายความ แต่ยังจะต้องมีทักษะในการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกความในปัจจุบันที่ไม่เพียงแต่ต้องการทนายความที่มีความรู้กฎหมายและว่าความได้แต่ยังต้องมีทักษะที่หลากหลายที่จะทำให้ผลลัพธ์ของงานเป็นไปอย่างน่าพึงพอใจและรักษาประโยชน์ของลูกความมากที่สุด

 

1.       ทักษะการให้คำปรึกษา

คนที่เข้ามาปรึกษาทนายความนั้นล้วนแล้วแต่มีปัญหาทั้งสิ้น หลายคนมาด้วยความทุกข์และความกังวลว่าตนจะต้องถูกดำเนินคดี ถูกยึดทรัพย์ สูญเสียสิทธิหรือประโยชน์ของตน บุคคลเหล่านี้เข้ามาหาทนายความก็หวังที่จะได้คำแนะนำที่สามารถช่วยให้เขาปลดเปลื้องความทุกข์ได้ ทนายความจึงเป็นเสมือนแพทย์ที่มีหน้าที่วินิจฉัยปัญหาและให้คำแนะนำตลอดจนทำการรักษาเพื่อให้คนไข้หายป่วย การให้คำแนะนำที่ดีเป็นมากกว่าการแจ้งข้อกฎหมาย หรือบอกว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ หากทนายความทำได้แค่ถ่ายทอดข้อกฎหมายแบบตรงไปตรงมาก็ไม่ต่างอะไรกับคอมพิวเตอร์ เพราะสิ่งที่ลูกความต้องการมากกว่าการรู้ข้อกฎหมายคือทางออกของปัญหา ทนายความที่เก่งต้องไม่เพียงแต่แม่นในข้อกฎหมายแต่จะต้องสามารถให้คำชี้แนะหรือชี้ช่องทางออกของปัญหาได้ด้วย จึงจะเป็นทนายที่เก่งและได้ใจลูกความ

 

ทนายความมืออาชีพจะไม่ละเลยการปลอบประโลมจิตใจลูกความที่กำลังตกอยู่ในความทุกข์ แม้ว่าปัญหานั้นจะไม่สามารถแก้ไขได้แล้วแต่การแสดงความเข้าอกเข้าใจและให้กำลังใจนอกจากจะทำให้ลูกความเกิดทัศนคติที่ดีต่อทนายความแล้วยังเป็นการสร้างมิตรภาพและเครือข่ายให้กว้างขวางออกไป และนำไปสู่การแนะนำแบบปากต่อปากซึ่งมีพลังมากกว่าสื่อใดๆ

 

การให้คำปรึกษาถือเป็นทักษะสำคัญที่ผู้นำทุกระดับจะต้องมี เช่น หัวหน้างาน พ่อแม่ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ ครูอาจารย์ รวมถึงทนายความซึ่งเป็นอาชีพที่ต้องใช้ทักษะนี้ไม่น้อยกว่าอาชีพอื่นๆ ทักษะการให้คำปรึกษาสามารถพัฒนาได้ ในต่างประเทศมีการอบรมพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษาอย่างแพร่หลาย มีการแบ่งระดับเป็นระดับต้น ระดับกลางและระดับสูง สะท้อนให้เห้นถึงความสำคัญของทักษะนี้

 

ดังนั้นหากคุณต้องการเป็นทนายความที่เก่งและเป็นที่ยอมรับว่ามีความสามารถมากกว่าการว่าความ จึงไม่ควรละเลยการพัฒนาทักษะการให้คำปรึกษา

 

2.       ทักษะการเจรจาต่อรอง

กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันจะเน้นการจบปัญหาด้วยการสมานฉันท์ นำทุกฝ่ายเข้าสู่โต๊ะเจรจาเพื่อหาทางออกแบบที่ไม่ต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะและเป็นทางออกที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ทนายความยุคใหม่จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในกระบวนการดังกล่าว ทนายความที่มุ่งแต่แพ้ชนะในศาลจึงไม่ใช่ทนายความที่ตอบโจทย์อีกต่อไป ทนายความที่จะยืดหยัดได้ในกระบวนการยุติธรรมยุคใหม่คือทนายความที่มีทักษะการเจรจาต่อรองที่เป็นเลิศ

ผู้ที่มีความสามารถในการเจรจาต่อรองหรือไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายจบปัญหาได้อย่างพึงพอใจจะเป็นผู้ที่สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุย ไม่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น ในทางตรงกันข้ามต้องส่งเสริมให้ทุกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกความตนเองเข้าสู่กระบวนการเจรจา และการเจรจาที่ดีจะต้องไม่เห็นแก่ประโยชน์ฝ่ายตนแต่จะต้องหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

 

แม้ว่าทักษะการเจรจาต่อรองหรือไกล่เกลี่ยเป็นสิ่งที่เกิดได้จากการเรียนรู้และประสบการณ์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ทนายความคนหนึ่งมีความสามารถในการเจรจาทำให้ทุกฝ่ายยุติความขัดแย้งด้วยความพึงพอใจจะต้องมีคุณสมบัติ 2 ประการคือ “ทัศนคติ” และ “บุคลิกภาพ”

 

ทัศนคติคือความรู้ความเข้าใจของบุคคลที่มีต่อสิ่งๆ หนึ่ง ทนายความผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเจรจาจะต้องมีความเข้าใจถึงประโยชน์ของการเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้ง เข้าใจประเด็นปัญหา สามารถวิเคราะห์หาจุดอ่อนของทั้งสองฝ่ายและประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายที่จะได้รับจากการยอมถอยคนละก้าว ทนายความรุ่นเก่าบางท่านที่มุ่งแต่จะค้าความหรือผลักดันให้ลูกความเอาชนะกันในศาลหรือจึงไม่ตอบโจทย์กระบวนการยุติธรรมยุคใหม่

 

ทนายความที่จะสามารถอำนวยให้การเจรจาเป็นไปอย่างราบรื่นและได้ผลดีจะมีบุคลิกภาพที่ดีด้วย บุคลิกภาพที่ดีในที่นี้ไม่ใช่แค่การแต่งกายแต่หมายความรวมถึงการแสดงออกที่เป็นมิตรกับทุกฝ่าย สามารถสร้างบรรยากาศให้ทุกฝ่ายยินดีที่จะหันหน้าเข้าหากันเพื่อพูดคุย ไม่แสดงออกซึ่งความไม่เป็นมิตรเช่น ข่มขู่ หรือยืนกรานในจุดยืนหรือความต้องการฝ่ายตนเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจคู่กรณี อันจะนำไปสู่บรรยากาศที่ไม่น่าพูดคุยหรือเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น

 

3.       ทักษะการนำเสนอ

ทนายความไม่ได้มีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษาหรือว่าความในศาลเท่านั้น แต่ทนายความมีหน้าที่ในการนำเสนอแนวทางการดำเนินคดี ขั้นตอนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดหรือทางออกของปัญหาให้กับลูกความหรือผู้ว่าจ้างที่เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารองค์กร การนำเสนอที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้ผู้ฟังเชื่อถือหรือเห็นชอบกับสิ่งที่นำเสนอคือการหลีกเลี่ยงการใช้ภาษากฎหมายและใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ผู้นำเสนอจะต้องทราบว่าผู้ฟังเป็นใคร เช่น นักธุรกิจ ผู้บริหาร วิศวกรหรือแพทย์  เป็นต้น เพื่อที่จะเลือกใช้ภาษาเดียวกันกับผู้ฟังเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจ หลีกเลี่ยงการใช้ภาษากฎหมายกับผู้ฟังที่ไม่ได้อยู่ในวงการกฎหมาย

 

การนำเสนอด้วยความมั่นใจก็มีผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ฟังอย่างปฏิเสธไม่ได้ การใช้น้ำเสียง การสบตาและการตอบคำถามที่ฉะฉานเฉียบคม สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีผลต่อความสนใจแความเชื่อมั่นของผู้ฟังทั้งสิ้น ทนายความที่ทำงานประจำหน่วยงานที่จำเป็นจะต้องมีการนำเสนอผลการทำงาน ยิ่งจำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการนำเสนอทั้งในแง่ของการใช้ภาษาในการสื่อสารและการนำเสนอด้วยสื่อต่างๆ เช่น สไลด์ หรือ คลิปวีดีโอ เป็นต้น ทักษะเหล่านี้จำเป็นต่อความก้าวหน้าในการทำงาน

 

4.       ทักษะภาษาต่างประเทศ

พูดติดตลกกันว่าคนที่เรียนกฎหมายก็คือคนที่หนีวิชาคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ แต่ในปัจจุบันแม้จะหนีอย่างไรก็ไม่พ้นเพราะนอกเหนือจากการทำงานในองค์กรต่างๆแล้ว บรรดาสถาบันการศึกษาที่จัดสอนวิชากฎหมายทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและระดับเนติบัณฑิตก็มีการจัดสอบวิชาภาษาอังกฤษด้วย เราจึงปฏิเสธความสำคัญของภาษาต่างประเทศไม่ได้เลย

 

ทนายความและนักกฎหมายจำนวนไม่น้อยที่อยากพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ไปหาซื้อหนังสือมาอ่านก็มีแต่คำศัพท์ที่เกี่ยวกับกฎหมายที่ท่องไปก็ไม่สามารถสื่อสารได้ และแม้จะดูตัวอย่างประโยคที่ให้มาก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ทำให้หลายคนเกิดความท้อใจ คิดว่าตนเองไม่มีหัวทางด้านนี้ และเลิกที่จะเรียนภาษาอังกฤษไปเลยก็มี ทั้งที่จริงปัญหาเกิดจากการขาดการปูพื้นฐานที่ถูกต้อง การที่จะเรียนวิชาภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมายให้ได้ดีหรือเข้าใจและนำไปใช้ได้นั้นจะต้องเริ่มต้นจากการเรียนวิชาพื้นฐานก่อน เพื่อให้เข้าใจโครงสร้างของภาษา รากศัพท์ และการออกเสียงที่ถูกต้องของภาษานั้นๆ เสียก่อน จึงจะก้าวไปสู่การเรียนภาษาอังกฤษเฉพาะด้านได้

 

ทนายความหรือนักกฎหมายที่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ล้วนแต่เป็นที่ต้องการขององค์กรขนาดใหญ่ เช่น บริษัทข้ามชาติหรือบริษัทมหาชน ซึ่งค่าตอบแทนก็สูงตามไปด้วย ในส่วนของทนายความอิสระที่สามารถสื่อสารภาษาต่างประเทศได้ก็มีโอกาสในการรับงานจากลูกความชาวต่างชาติได้มากกว่าทนายความที่ขาดทักษะการสื่อสารภาษาต่างประเทศ

 

การเป็นทนายความที่ว่าความเป็นอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดอีกต่อไป 4 ทักษะดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในการประกอบอาชีพทนายความในยุคนี้ หากคุณเป็นทนายความหรือนักกฎหมายที่ต้องการเติบโตและก้าวหน้าทั้งในเรื่องของงาน รายได้และความมั่นคง จึงไม่ควรละเลยการพัฒนาทักษะเหล่านี้

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้