แม่เลี้ยงเดี๋ยว & บุตรนอกสมรส ใครว่ากฎหมายไม่คุ้มครอง

Last updated: 7 ส.ค. 2564  |  2108 จำนวนผู้เข้าชม  | 

แม่เลี้ยงเดี๋ยว & บุตรนอกสมรส ใครว่ากฎหมายไม่คุ้มครอง

แม่เลี้ยงเดี๋ยว & บุตรนอกสมรส

ใครว่ากฎหมายไม่คุ้มครอง

"เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคมได้หรือไม่

ส่วนสำคัญมาจากการอบรมเลี้ยงดูของพ่อและแม่เป็นหลัก"

 

        นี่เป็นเพียงคำพูดส่วนหนึ่งของคุณดิษญา ลิ้มตระกูล ทนายความหัวหน้าสำนักงานกฎหมายชาญดิศและที่ปรึกษากฎหมายศาลเยาวชนและครอบครัว ได้บอกเล่าหลังดูแลคดีครอบครัวมาหลายคดี ซึ่งโดยปกติ คุณดิษญาว่าความในคดีทั่วไปด้วย แต่คดีครอบครัวเป็นหนึ่งในบรรดาคดีที่ได้รับการปรึกษามากที่สุด ด้วยความที่สัมผัสเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านการเป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่มาขอคำปรึกษาจำนวนมาก จึงเกิดเป็นอุดมการณ์ ที่อยากจะสู้เพื่อสิทธิของเด็ก ๆ ด้วยแรงผลักดันนี้จึงนำมาสู่การก้าวเข้ามาดูแลคดีที่เกี่ยวกับครอบครัว เด็กและเยาวชน

ที่มาในการช่วยเหลือคดีครอบครัว เพราะอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้สังคมดีขึ้น

      "คดีครอบครัว เป็นคดีที่ได้รับการปรึกษามากที่สุดก็จริง แต่ถ้าระบุให้เจาะจงมากขึ้น ก็มักจะเป็น กรณีแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ต้องรับภาระดูแลลูกเพียงลำพังโดยที่ฝ่ายชายผู้เป็นพ่อไม่ได้ให้การช่วยเหลือดูแลอะไรเลย ทำให้แม่เลี้ยงเดี่ยวเหล่านี้เกิดความเครียด ความกดดันทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มาปรึกษา มีอายุเฉลี่ย 18-25 ปี หลังจากที่ฟังมาหลาย ๆ เคสแล้ว เราอยากช่วยเหลือเด็กเหล่านี้รวมถึงแม่ของเด็กด้วย อยากสู้เพื่อสิทธิของบุตรนอกสมรส ถึงแม้เด็กเหล่านี้จะเป็นบุตรนอกสมรสก็ตาม แต่เขาก็มีสิทธิ์ได้รับการเลี้ยงดูจากทั้งพ่อและแม่ ให้เติบโตมาอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ เราสามารถทำปัญหานี้ให้ชอบธรรมได้ด้วยกฎหมาย โดยการจดทะเบียนรับรองบุตรจากผู้เป็นพ่อ ก็จะทำให้เด็กมีสิทธิที่จะได้รับการอุปการะเลี้ยงดูจากพ่อรวมถึงในการรับมรดกเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้พ่อมีหน้าที่ต้องอุปการะบุตรเช่นกัน 




คดีครอบครัวและเยาวชน เน้นเยียวยา ฟื้นฟูจิตใจ มากกว่าการได้ผลแพ้-ชนะ

        สำหรับรูปแบบคดีครอบครัวและเยาวชน มีกระบวนการไม่เหมือนศาลทั่วไป เน้นการพูดคุยไกล่เกลี่ย การเยียวยา ฟื้นฟูจำเลย และเยียวยาผู้เสียหาย เพราะปัญหาครอบครัวและเยาวชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ฉะนั้น ก่อนที่จะมีการพิจารณาคดี จะมีการให้ทางฝ่ายพ่อ และแม่ ปรึกษา หารือ เพื่อหาจุดร่วมกันก่อน โดยเน้นผลประโยชน์ หรือ ‘เพื่อความผาสุกของเด็กเป็นหลัก’ นอกจากนี้ จุดเด่นของคดีครอบครัวจะไม่เหมือนคดี แพ่ง-อาญาทั่วไป ที่เมื่อจบคดีทางศาลพิพากษาแล้วก็สิ้นสุดไป  แต่คดีครอบครัว สามารถเปลี่ยนแปลงสัญญาหรือข้อตกลงกันได้อีกครั้ง หากพบพฤติการณ์ของอีกฝ่ายเปลี่ยนแปลงไป

พบตัวอย่าง 2 คดี กรณีศึกษาจากปัญหาครอบครัว

        จากการทำคดีครอบครัวมา คุณดิษญาเผยว่า มีสองคดีที่เธอจำได้ขึ้นใจ ทั้งในแง่ของการสะท้อนปัญหาสังคม และค่านิยมผิดเพี้ยน ที่นำความเกลียดชังระหว่างผู้ใหญ่ยัดเยียดไปสู่เด็ก โดยคุณดิษญาได้เล่าคดีตัวอย่างเพื่อเป็นวิทยาทานว่า

       “สำหรับคดีแรก เรื่องมีอยู่ว่า ผู้เป็นพ่อมีอาชีพเป็นศิลปิน เดิมทีมีภรรยาอยู่แล้ว แต่พบรักกับภรรยาอีกคนหนึ่ง ก็มาอยู่กับภรรยาท่านนี้ จนกระทั่ง ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ และกำเนิดบุตรออกมา ในช่วงแรกนั้น มีการส่งเสียเลี้ยงดูตามปกติ แต่ผ่านไปสักพักกลับหายไป ไร้ซึ่งการติดต่อ พร้อมกับไม่มีการส่งค่าเลี้ยงดูอีกด้วย กลายเป็นว่า คุณแม่ท่านนี้ต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง อีกทั้ง ยังต้องหารายได้เอง ขณะเดียวกัน ฝ่ายหญิงเองพยายามติดต่อทุกวิถีทางก็ไม่สัมฤทธิ์ผล จึงจำเป็นต้องมาขอใช้สิทธิ์ทางศาล หากเป็นคดีครอบครัวทั่วไป เมื่อฝ่ายชายได้รับหมายศาล ส่วนใหญ่แล้ว มักจะเดินทางมาไกล่เกลี่ย เพื่อหาข้อตกลงในการเลี้ยงดูบุตรร่วมกัน แต่กรณีนี้ ทางฝั่งสามีกลับส่งทนายมาสู้คดี และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา อาทิ เขาไม่เคยมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนนี้ในเชิงชู้สาว เงินที่เคยส่งให้นั้น ก็ให้เป็นสินน้ำใจช่วยเหลือด้วยความสงสารตามธรรมจรรยา  เขาปฏิเสธจนกระทั่งว่า ขอให้ศาลสั่งตรวจดีเอ็นเอ ทั้ง ๆ ที่ เขาเองรู้อยู่แก่ใจ ว่าเด็กคนนี้ เป็นลูกของเขา การปฏิเสธสิ้นเช่นนี้ ทำให้แม่เด็กและเด็กที่มาร่วมฟังการพิจารณาคดีต่างน้ำตาร่วง จนเด็กถึงกับขั้นพูดว่า พ่อไม่รักหนูเลยเหรอ? กระทั่ง ตอนออกจากศาล เด็กยังได้ก้มกราบคุณพ่อ ซึ่งคำพูดและการกระทำของเด็กในวันนั้น ได้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้พบเห็นอย่างมาก

      เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการสร้างบาดแผลทางจิตใจให้เด็กรอบสอง ตอนที่ผลตรวจดีเอ็นเอ ออกมาว่าเป็นพ่อ-ลูกกัน และมีการตกลงนัดไปจดรับรองบุตรกันที่สำนักงานเขต  ปรากฏว่า ฝั่งคุณพ่อของเด็กไม่ยอมมาตามนัด อีกทั้งยัง ปิดการสื่อสารทุกช่องทาง ยิ่งทำให้เด็กเสียใจกับการกระทำของคุณพ่อเขา ซึ่งในความเป็นจริง หลังจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว คนเป็นแม่สามารถนำคำพิพากษานี้ไปจดรับรองบุตรเองได้ เพียงแต่ว่า ถ้าพ่อไม่ไป ไม่ควรมาสัญญาเพื่อให้ความหวังกับเด็ก อีกทั้ง ตลอดเวลาที่อยู่ในศาล พ่อไม่มีทีท่าแสดงความรักต่อลูกเลยสักนิด  ในขณะที่ลูกคิดถึงพ่อจับใจ นี่จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง ว่าปัญหาเล็ก ๆ จุดนี้ ก็สามารถสร้างบาดแผลฉกรรจ์ให้กับจิตใจของเด็กได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับเคสนี้ ดิฉันเชื่อว่าเด็กสามารถเติบโตเป็นคนดีของสังคมได้ พร้อมมีจิตใจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี และยังได้รับความรักของคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวท่านนี้มาอย่างเต็มเปี่ยม

       ต่อมา อีกคดีที่ไว้เป็นอุทาหรณ์ของความเกลียดชังของผู้ใหญ่ที่ส่งผลร้ายไปสู่เด็ก  เรื่องราวคือ มีคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอายุราว 18 ปีได้มีแฟนอายุ 30 ปี ทั้งสองรักกันดี ไม่มีปัญหาอะไร จนกระทั่งฝ่ายหญิงตั้งครรภ์และให้กำเนิดลูกออกมา จึงย้ายเข้าไปอาศัยยังบ้านฝ่ายชาย เมื่อระยะเวลาผ่านไป เธอพบว่า แม่ฝ่ายชายไม่ปลื้ม ด้วยความเกลียดชังรุนแรงของผู้เป็นแม่สามี ได้มีการยุยงให้ลูกชายตัวเองเลิกรากับฝ่ายหญิง และด้วยความที่ฝ่ายชายเชื่อฟังผู้เป็นแม่ทุกอย่าง และทำตามที่แม่ได้บอกกล่าว หลังตัดสินใจเลิกรากัน ทางฝั่งสามีได้หาทนายมาเพื่อจดทะเบียนรับรองบุตร และขออำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว

         ตอนนั้น ทางแม่ของเด็ก ยังไม่รู้ว่า อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวคืออะไร จึงเซ็นยินยอมไป กลับกลายเป็นว่า หลังจากนั้น ครอบครัวฝ่ายชายได้กีดกันทุกวิถีทาง เพื่อไม่ให้แม่มาเจอลูกของตัวเอง ในทางกฎหมายนั้น แม้พ่อจะเซ็นปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวก็ตาม แต่ความเป็นแม่มีสิทธิ์ที่จะมาเจอลูกได้อยู่แล้ว

         ซึ่งหลังจากได้มีการเลิกรากัน การพบเจอหน้าลูกของผู้เป็นแม่ช่างยากลำบาก เพราะนอกจากครอบครัวฝ่ายชายกีดกัน ทางฝั่งนั้นยังมีการเป่าหูเด็กว่า แม่ไม่รัก แม่ทิ้งไป และได้เสี้ยมสอนเด็กให้พูดคำว่า เกลียดแม่ ไม่รักแม่ ทั้งที่ความเป็นจริงแม่ไม่ใช่คนเลวร้ายอะไรเลยแต่ทางตรงข้ามกลับรักลูกมากด้วยซ้ำ อย่างมากครอบครัวฝ่ายชายก็ให้โอกาสแม่แค่ยืนมองลูกอยู่ประตูรั้วเหล็กนอกบ้าน ไม่มีโอกาสได้กอด ได้สัมผัสลูกเลยสักนิดเดียว ในกรณีนี้ หากเป็นเด็ก เขาจะรู้สึกอย่างไร เมื่อภาพความทรงจำของเขาคือ แม่ไม่รัก ซึ่งเด็กอายุ 4-5 ขวบ เป็นวัยกำลังเรียนรู้ เด็กจะจดจำสิ่งเหล่านั้นและฝังรากจนพัฒนาต่อไปเป็นบุคลิกของเขาในตอนโต บาดแผลปลอมๆ ที่ผู้ใหญ่สร้างให้ว่าแม่ทรยศ แม่ไม่รัก จะส่งผลต่อทัศนคติ การเลือกคู่ครอง และการดำเนินชีวิต เป็นผลมาจากการสร้างความคิดที่บิดเบี้ยวขึ้นในใจเด็ก จึงอยากบอกว่า ไม่ว่าผู้ใหญ่จะเกลียดกันแค่ไหน อย่าถ่ายทอดความเกลียดชังสู่เด็ก เพราะจะสร้างปมขัดแย้งและบาดแผลทางจิตใจ เมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะส่งผลต่อชีวิตเด็กคนนั้นไปตลอดชีวิต จนยากเกินเยียวยาและแก้ไขได้  

แง่คิดจากการดูแลคดีครอบครัว

        คุณดิษญาเผยแง่คิดจากการได้ทำคดีเหล่านี้ว่า "ข้อแรก การสร้างครอบครัว ไม่ใช่มีแค่ความรักอย่างเดียวแล้วจะอยู่กันรอด มันมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็น ‘ทัศนคติ’ ไลฟ์สไตล์ รวมถึง ครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ก็มีผลต่อความสำเร็จของชีวิตคู่อย่างมาก

        ข้อสอง การคุมกำเนิดเป็นสิ่งสำคัญ อย่ามีลูกเมื่อไม่พร้อม เพราะการเลี้ยงลูกไม่ใช่แค่การทุ่มเทเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้อง ทุ่มเทชีวิต ทุ่มเทเวลาในการเลี้ยงดูลูกอย่างเต็มที่

       ข้อสาม การเลือกคู่ครองเป็นสิ่งสำคัญต่อการกำหนดอนาคตของเราเลยก็ว่าได้ ฉะนั้น คนที่จะเดินเข้ามาในชีวิต เราต้องมองให้ลึกถึงพฤติกรรม ค่านิยม อาชีพ  ฐานะ วุฒิภาวะของอีกฝ่ายด้วยว่า เขาเหมาะไหมที่จะเป็นคู่ชีวิตของเรา ถ้าพบเจอคนไม่เหมาะ ไม่พอดี การอยู่เป็นโสดย่อมดีกว่า

        สุดท้าย หากคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวท่านใด เจอปัญหาฝ่ายชายไม่รับผิดชอบ ถูกทำร้าย หรือถูกทอดทิ้ง อย่าเพิ่งถอดใจ อย่าใช้อารมณ์และใช้วิธีการเรียกร้องแบบผิด ๆ เช่น ไปด่า อาละวาด ประจานกัน จนเกิดเป็นคดีอาญากันขึ้นเพราะนั่นจะเป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ตนเอง ในกรณีท้องแล้วผู้ชายไม่รับ มันมีข้อกฎหมายรองรับเรื่องสิทธิของเด็กอยู่แล้ว

ฉะนั้น สำหรับใครที่กำลังพบเจอปัญหาเหล่านี้ ไปใช้สิทธิ์ตามกฎหมายจะดีที่สุด

สิ่งที่อยากบอกต่อสังคม

       ครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานสำคัญที่สุดของสังคม ในการทำหน้าที่หล่อหลอมและขัดเกลา อบรมเลี้ยงดู ให้ความรัก ความเอื้ออาทร ความอบอุ่น พร้อมทั้งเป็นแหล่งสร้างและปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพ มีคุณธรรม ฉะนั้น อย่าปล่อยให้เด็กที่เป็นดั่ง ผ้าขาว ต้องมารับผลพวงและปัญหาจากผู้ใหญ่ เกิดเป็นปม ความขัดแย้ง หรือบาดแผลทางจิตใจ ที่ส่งผลรุนแรงและยาวนานกลายเป็นปมอดีตฝังลึกได้ ฉะนั้น ไม่ว่าผู้ใหญ่จะทะเลาะอะไรกัน ก็ควรมีความรับผิดชอบ ทำบทบาทของพ่อและแม่ให้ดี ทำหน้าที่ของครอบครัวได้อย่างเหมาะสม เพื่อเป็นส่วนช่วยให้ครอบครัวมีความเข้มแข็งและมีความสุข ตลอดจนเป็นเครื่องป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับ เยาวชน เพื่อให้เขาได้มีโอกาสเติบโตเป็นคนที่ดี เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไป

        อย่างไรก็ตาม หากใครมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาปัญหาคดีครอบครัว  สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณดิษญา

0​8​9​-9​88​-518​6 หรือ www.chandislaw.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้